Moldova, Republic of; Moldavia

สาธารณรัฐมอลโดวา; มอลเดเวีย

​​     ​​​สาธารณรัฐมอลโดวา เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ชื่อเดิมคือมอลเดเวียหรือเบสซาราเบีย (Bessarabia)* เนื่องจากประกอบด้วยดินแดน ๒ ภูมิภาคคือ เบสซาราเบียกับทรานส์นิเตรีย (Transnitria) โดยพื้นที่ ๒ ใน ๓ ของเบสซาราเบียรวมอยู่กับมอลเดเวียและส่วนที่เหลือรวมกับแคว้นยูเครน อย่างไรก็ตาม เมื่อมอลเดเวียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ รัสเซียเรียกชื่อมอลเดเวียใหม่ตามชื่อของแม่น้ำมอลโดวา (Moldova) ที่เป็นแม่น้ำสายหลัก ชื่อเบสซาราเบียจึงหมายถึงเฉพาะดินแดนทางฝั่งตะวันออกที่อยู่ระหว่างแม่น้ำพรูต (Prut) กับแม่น้ำนีสเตอร์ (Dniester) เท่านั้น ในระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สหภาพโซเวียตเปลี่ยนสถานภาพจากสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย (Moldavian Autonomous Soviet Socialist Republic) เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย (Moldavian Soviet Socialist Republic)* ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States CIS)* ขึ้น และสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ มอลเดเวียซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐมอลโดวาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ประกาศแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต และเข้าเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราชด้วย
     มอลเดเวียเคยเป็น ๑ ใน ๑๕ ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตที่สังกัดในสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republic - USSR)* และมีขนาดเล็กเป็นอันดับ ๒ รองจากสาธารณรัฐอาร์เมเนีย (Republic of Armenia) มีเนื้อที่ ๓๓,๘๔๐ ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออก เฉียงเหนือติดสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน [ (Ukrainion Soviet Socialist Republic)* ปัจจุบันคือประเทศยูเครน] ทิศใต้และทิศตะวันตกติดโรมาเนีย และทิศตะวันออกเฉียงใต้จดทะเลดำ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเนินเขา และมีแม่น้ำหลายสายตัดผ่าน ทางตอนเหนือเป็นป่าไม้และที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่นและเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ ซึ่งปลูกองุ่น ผลไม้ ยาสูบ ทั้งเลี้ยงแกะและวัวพันธุ์นม มอลเดเวียจึงได้ชื่อว่าเป็นสวนของสหภาพโซเวียต


เพราะผลิตไวน์และผลิตผลทางเกษตรให้สหภาพโซเวียตเป็นจำนวนมาก พื้นที่ตอนกลางเป็นทุ่งหญ้าสเตปป์และเนินเขา ส่วนทางตอนใต้เป็นที่ราบและทะเลสาบ บึงหนองและอุดมไปด้วยนกนานาชนิด ภูมิอากาศเป็นแบบชื้นภาคพื้นทวีปคืออากาศอบอุ่นในฤดูร้อนและหนาวจัดในฤดูหนาว ปริมาณฝนตกปานกลางเฉลี่ยประมาณ ๒๐-๕๐ นิ้วต่อปี จึงทำการเกษตรได้โดยไม่ต้องอาศัยการชลประทาน ประชากรมีจำนวน ๔,๓๒๔,๔๕๐ ล้านคน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) ซึ่ง ๒ ใน ๓ เป็นชาวมอลโดวาเชื้อสาย โรมาเนียที่เหลือเป็นชาวยูเครน รัสเซีย บัลแกเรีย ยิว และแกกุซ (Gaguz) ซึ่งเป็นพวกผสมระหว่างเติร์กกับคนพื้นเมืองที่นับถือคริสต์ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาโรมาเนีย ส่วนทางใต้นิยมพูดภาษารัสเซียกับยูเครน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ (Eastern Orthodox) และเคร่งศาสนา ส่วนประชากรที่เหลือนับถือศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์และศาสนาอิสลาม เมืองหลวงคือกรุงคีชีเนา (Chisinau) และเมืองสำคัญอื่น ๆ มีเมืองบัลตา (Balta) ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า และทิแรสพอล (Tiraspol) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองเหล่านี้มีซากโบราณสถานในสมัยกรีกและโรมันหลงเหลืออยู่มาก นับเป็นแหล่งขุดค้นโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป
     มอลเดเวียในอดีตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดเซีย (Kingdom of Dacia) ซึ่งเป็นอาณานิคมของกรีกบริเวณชายฝั่งทะเลดำ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๔ พวกอนารยชนเผ่าต่าง ๆ เช่น แมกยาร (Magyars) อวาร์ (Avars) กอท (Goths) และฮั่น (Huns) ผลัดกันบุกรุกและเข้าครอบครอง แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ก็กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันหลังจากโรมันเสื่อมอำนาจ พวกออสโตรกอท (Ostrogoths) และแอนเทส (Antes) ซึ่งเป็นพวกสลาฟเริ่มเข้าตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ต่อมาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ถึง ๑๑ มอลเดเวียถูกรวมเข้ากับอาณาจักรคีวานรุส (Kevan Rus) หรือเคียฟ (Kiev) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ พวกมองโกลเข้ารุกรานและเข้ายึดครองอยู่ระยะเวลา หนึ่งก่อนที่มอลดาเวียจะตกอยู่ใต้การปกครองของพวกแมกยาร์ หรือฮังการีอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์มหาราช (Louis the Great, ค.ศ. ๑๓๔๒-๑๓๘๒) แห่งราชวงศ์แอนจิวิน (Angevin) พระองค์โปรดให้สร้างป้อมค่ายขึ้นในมอลเดเวีย และดินแดนใกล้เคียงเพื่อป้องกันการบุกรุกของพวกสลาฟรัสเซียที่จะใช้มอลเดเวียเป็นเส้นทางผ่านเข้าสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำดานูบ อย่างไรก็ตาม การรุกรานของพวกมองโกลอีกระลอกหนึ่งเปิดโอกาสให้มอลเดเวียเป็นอิสระจากฮังการี และใน ค.ศ. ๑๓๔๙ พระเจ้าบอกดัน (Bogdan) ทรงจัดตั้งดินแดนขึ้นเป็นราชรัฐมอลเดเวีย (Principality of Moldavia) และจัดตั้งเมืองบัลตาเป็นเมืองหลวง
     ในรัชสมัยพระเจ้าสตีเฟนที่ ๔ มหาราช (Stephen IV the Great, ค.ศ. ๑๔๕๗-๑๕๐๔) ราชรัฐมอลดาเวียขยายอาณาเขตไปทางเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathian) และตอนเหนือของแม่น้ำนีสเตอร์ โดยผนวกเบสซาราเบียและบูโควินา (Bukovina) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมอลเดเวีย แต่หลังจากที่พระเจ้าสตีเฟนที่ ๔ สิ้นพระชนม์ ราชรัฐก็เริ่มอ่อนแอลงเพราะพระเจ้าบอกดันที่ ๓ (Bogdan III) พระราชโอรสทรงไม่เข้มแข็งในการปกครอง พวกเติร์กจึงเข้ารุกรานและใน ค.ศ. ๑๕๑๓ มอลเดเวียก็ตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีเป็นเวลาเกือบ ๓๐๐ ปี ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จักรวรรดิ ออตโตมันสถาปนามอลเดเวียเป็นรัฐปกครองตนเอง ภายในจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระเจ้าจอห์นผู้เหี้ยมโหด (John the Terrible ค.ศ. ๑๕๗๒-๑๕๗๔) มอลเดเวียก่อกบฏต่อพวกเติร์กและให้การสนับสนุนพระเจ้าไมเคิลผู้กล้า (Michael the Brave) แห่งวัลเลเคีย (Wallachia) เคลื่อนไหวต่อต้านออตโตมัน พระเจ้าไมเคิลสามารถขยายดินแดนไปจนถึงทรานซิลเวเนีย (Transylvania) และรวมมอลเดเวียเข้ากับราชรัฐวัลเลเคียใน ค.ศ. ๑๖๐๐ แต่ในปีต่อมา พระเจ้าไมเคิลถูกลอบปลงพระชนม์ สุลต่านแห่งออตโตมันจึงกลับมาปกครองมอลเดเวียอีกครั้งหนึ่งและจัดตั้งระบบฟานาเรียต (Phanariot system) ขึ้นด้วยการแต่งตั้งเจ้าผู้ปกครองจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสมาชิกราชวงศ์กรีกที่ จงรักภักดีมาปกครองมอลเดเวียและวัลเลเคีย ทั้งควบคุมระบบการค้าและเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด
     ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ รัสเซียขยายอำนาจเข้ามาในจักรวรรดิออตโตมันและพยายาม เข้าครอบครองมอลเดเวียและเบสซาราเบียซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งของปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* จนนำไปสู่การเกิดสงครามรัสเซีย-ตุรกีระหว่าง ค.ศ. ๑๗๑๑-๑๘๑๒ รวม ๕ ครั้ง ในสงครามรัสเซียตุรกีครั้งที่ ๔ ( ค.ศ. ๑๗๘๗-๑๗๙๒) ตุรกีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเอียซี (Treaty of Iasi) ตุรกียอมให้รัสเซียอารักขามอลเดเวียซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน และยกบูโควีนาให้แก่ออสเตรีย อย่างไรก็ตาม ในสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่ ๕ ( ค.ศ. ๑๘๐๖-๑๘๑๒) รัสเซียยอมลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaty of Bucharest) ยุติสงครามกับตุรกีเนื่องจากกำลังจะถูกกองทัพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แห่งฝรั่งเศสเข้ารุกราน ตามสนธิสัญญาบูคาเรสต์ ค.ศ. ๑๘๑๒ ตุรกีต้องยกดินแดนส่วนใหญ่ของเบสซาราเบียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมอลเดเวียให้แก่รัสเซีย แต่รัสเซียต้องคืนแคว้นวัลเลเคียและเสียสิทธิการอารักขามอลเดเวีย
     เมื่อชาวกรีกก่อกบฏต่อพวกเติร์กเพื่อแยกตนเป็นอิสระจากจักรวรรดิออตโตมันในทศวรรษ ๑๘๒๐ ซึ่งนำไปสู่สงครามอิสรภาพกรีก (Greek War of Independence)* สงครามดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่กระจายลัทธิเสรีนิยมและลัทธิชาตินิยมที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* รัสเซียได้ส่งกองทัพข้ามแม่น้ำพรูตเข้าไปในมอลเดเวียเพื่อช่วยปลดแอกชาวกรีกและแสวงหาผลประโยชน์ในคาบสมุทรบอลข่าน สงครามรัสเซีย-ตุรกี ( ค.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๒๙) ที่เกิดขึ้นทำให้ตุรกีต้องยอมแพ้ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเอเดรียโนเปิล (Treaty of Adrianople) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๒๙ ตุรกียอมยกเลิกสิทธิในการควบคุมปากแม่น้ำดานูบและยกดินแดนชายฝั่งทะเลดำให้แก่รัสเซียทั้งจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลโดยกำหนดเวลาชดใช้ ๑๐ ปีรัสเซียได้สิทธิควบคุมดินแดนในราชรัฐดานูบ (Danubian Principalities) ซึ่งประกอบด้วยมอลเดเวียและวัลเลเคีย เป็นหลักประกันการจ่ายค่า ปฏิกรรมสงคราม
     ในทศวรรษ ๑๘๕๐ รัสเซียขัดแย้งกับตุรกีอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการที่ตุรกีให้สิทธิพิเศษแก่ฝรั่งเศสในการเข้าไปคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ใต้การปกครองของตุรกี สิทธิดังกล่าวซ้ำซ้อนกับสนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี (Treaty of Kuchuk Kainarji) ที่ตุรกีทำไว้กับรัสเซีย โดยให้รัสเซียมีสิทธิในการคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ (Greek Orthodox) ในดินแดนตุรกีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๔ รัสเซียจึงบีบบังคับให้ตุรกียกเลิกข้อตกลงดังกล่าวกับฝรั่งเศส แต่ประสบความล้มเหลวและนำไปสู่การเกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปภายหลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* สงครามครั้งนี้ละเมิดหลักการดุลอำนาจตามข้อตกลงของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* และทำลายความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* รัสเซียซึ่งต่อสู้ทำสงครามโดยปราศจาก พันธมิตรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องยอมยุติสงครามด้วยการลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ รัสเซียต้องสูญเสียดินแดนส่วนที่เหลือของเบสซาราเบียให้กับมอลเดเวีย และหมดสิทธิควบคุมดินแดนในราชรัฐดานูบ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ ทั้งมอลเดเวียและวัลเลเคียได้เลือกเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ ยอน คูซา (Alexander Ion Cuza) เป็นเจ้านครซึ่งนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นราชรัฐโรมาเนียใน ค.ศ. ๑๘๖๑
     ในทศวรรษ ๑๘๗๐ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ปัญหาตะวันออกอีกอันสืบเนื่องจากชาวสลาฟในมณฑล บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) ก่อกบฏเพื่อแยกตัวออกจากจักรวรรดิออตโตมัน ประเทศมหาอำนาจได้จัดการประชุมขึ้นที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลในปลาย ค.ศ. ๑๘๗๖ และการประชุมที่กรุงเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* ค.ศ. ๑๘๗๘ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผลสำคัญประการหนึ่งของการประชุมใน ค.ศ. ๑๘๗๘ คือรัสเซียได้ยึดครองเบสซาราเบียอีกครั้งหนึ่งและปกครองจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๗ ในช่วงรัสเซียอารักขาและปกครองทั้งมอลเดเวียและเบสซาราเบียนั้นขุนนางชาวมอลเดเวียได้อาสาสมัครเข้าร่วมในกองทัพรัสเซียเพื่อทำสงครามกับตุรกีและต่อมาก็ถูกกลืนเข้ากับขุนนางรัสเซีย ขุนนางมอลเดเวียจำนวนหนึ่งยังมีบทบาทสำคัญในการเมืองรัสเซียโดยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาดูมา (Duma)* และบ้างมีส่วนร่วมในการวางแผนสังหารนักบวชเกรกอรี เอฟิโมวิช รัสปูติน (Gregory Efimovich Rusputin)* ที่มีอิทธิพลในราชสำนักรัสเซียตลอดจนมีส่วนร่วมก่อตั้งขบวนการชาตินิยมหัวรุนแรงที่รู้จักกันว่ากลุ่ม "ร้อยทมิฬ" (Black Hundreds) เพื่อต่อต้านขบวนการปฏิวัติและจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ชื่อ พรรคกองกำลังเหล็ก (Iron Guard Party) ขึ้นด้วย
     ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* รัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* สิ้นสุดอำนาจ และรัสเซียเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ตามอุดมการณ์ลัทธิมากซ์ (Marxism) กลุ่มชาตินิยมในเบสซาราเบียจึงเห็นเป็นโอกาสแยกตนเป็นเอกราชโดยประกาศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยมอลโดวา (Democratic Moldova Republic) ซึ่งประกอบด้วยเบสซาราเบียและบางส่วนของดินแดนบูโควีนา-เฮิร์ตซา (Bukovina-Hertza) และตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียทุกด้านเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ต่อมา ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ ก็มีการลงประชามติให้รวมเข้ากับโรมาเนีย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง ประเทศมหาอำนาจในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสก็รับรองการรวมตัวของสาธารณรัฐประชาธิปไตยมอลโดวากับโรมาเนีย แต่รัฐบาลบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* เป็นผู้นำไม่ยอมรับการรวมตัวดังกล่าวและยังคงอ้างสิทธิของสหภาพโซเวียตในการปกครองเบสซาราเบียหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยมอลโดวา สหภาพโซเวียตจึงประกาศจัดตั้งดินแดนบริเวณพรมแดนโรมาเนียทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีสเตอร์ในยูเครนเป็นจังหวัดปกครองตนเองมอลเดเวีย (Moldavian Autonomous Oblast) ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และต่อมาก็เปลี่ยนสถานภาพขึ้นเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย (Moldavian Autonomous Soviet Socialist Republic - MASS ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๔๐) โดยมีทิแรสพอลเป็นเมืองหลวง
     เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำเยอรมนีทำความตกลงกับสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Non-Aggression Pact)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เพื่อให้สหภาพโซเวียตวางตัวเป็นกลางในการบุกโปแลนด์ของเยอรมนี ในเวลาต่อมา สหภาพโซเวียตจึงเข้ายึดครองสาธารณรัฐประชาธิปไตยมอลโดวาจากโรมาเนียเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ตามความตกลงอนุสัญญาลับที่เป็นส่วนหนึ่งของกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกันระหว่างนาซี-โซเวียต อีก ๒ เดือนต่อมาสหภาพโซเวียตก็ประกาศเปลี่ยนชื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยมอลโดวาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย (Moldavian Soviet Socialist Republic) เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ โดยมีคีชีเนาเป็นเมืองหลวง และยุบเลิกสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็รวมดินแดนทางตอนเหนือของมอลเดเวีย บูโควีนาตอนเหนือและเบสซาราเบียตอนใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในดินแดนทั้ง ๓ แห่งพูดภาษายูเครนเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน การรวมดังกล่าวมีผลให้สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลดาเวียกลายเป็นสาธารณรัฐที่ ไม่มีทางออกทะเล
     ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ค.ศ. ๑๙๔๐ ทำให้ฮิตเลอร์ซึ่งต้องการทดแทนความล้มเหลวในการยุทธดังกล่าวตัดสินใจบุกสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยการใช้แผนปฏิบัติการบาบารอสซา (Operation Barbarossa)* โรมาเนียซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีจึงเห็นเป็นโอกาสประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตและบุกยึดเบสซาราเบียกับบูโควีนาตอนเหนือรวมทั้งดินแดนที่อยู่ระหว่างแม่น้ำนีสเตอร์กับแม่น้ำปิฟเดนนีบูฮ์ (Pivdenny Buh) ซึ่งโรมาเนียเรียกชื่อดินแดนดังกล่าวว่าทรานส์นิเตรียกลับคืน อย่างไรก็ตาม ในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตซึ่งเคลื่อนกำลังเข้าปลดปล่อยประเทศยุโรปตะวันออกสามารถปลดอาวุธเยอรมนี และยึดเบสซาราเบียรวมทั้งบูโควีนาตอนเหนือกลับคืน กองกำลังเหล็ก (Iron Guard)* ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่ปกครองโรมาเนียจึงหนีออกนอกประเทศไปจัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่กรุงเวียนนา (Vienna) ออสเตรียแต่เมื่อเยอรมนียอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองกำลังเหล็กก็หมดบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองลง
     ในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างโรมาเนียกับประเทศมหาอำนาจพันธมิตรที่ลงนาม ณ กรุงปารีส ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ โรมาเนียยอมรับสิทธิของสหภาพโซเวียตเหนือเบสซาราเบียและบูโควีนาตอนเหนือ สหภาพโซเวียตจึงผนวกดินแดนทางตอนใต้ของเบสซาราเบียบูโควีนาตอนเหนือและทรานส์นีเตรีย เข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนอีกครั้งหนึ่ง และรวมส่วนที่เหลือของเบสซาราเบียเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียดังเดิม
     ในกลางทศวรรษ ๑๙๔๐ เมื่อโจเซฟ วิสซารีโอโนวิช สตาลิน (Joseph Vissarionovich Stalin ค.ศ.๑๙๒๗-๑๙๕๓)* ผู้นำสหภาพโซเวียตใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียตในการปกครองมอลเดเวีย และตัดความผูกพันทุกด้านระหว่างมอลเดเวียกับโรมาเนีย มีการสนับสนุนให้พลเมืองรัสเซียและยูเครนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในมอลเดเวีย และพลเมืองเชื้อสายโรมาเนียจะถูกตัดสิทธิไม่ให้ดำรงตำแหน่งบริหารในวงการเมือง การศึกษา และในพรรคคอมมิวนิสต์หน่วยตำรวจลับหรือเคจีบี (KGB)* จะคอยสอดส่องและกวาดล้างกลุ่มชาตินิยมที่พยายามเคลื่อนไหวทางการเมือง นโยบายการปกครองที่เข้มงวดดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้แก่พลเมืองเชื้อสายโรมาเนีย นอกจากนี้ สหภาพโซเวียตยังบังคับให้มอลดาเวียส่งผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากให้แก่รัฐบาลกลางด้วย ในช่วงที่เลโอนิด อิลยิช เบรจเนฟ (Leonid Ilyich Brezhnev ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๘๒)* ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคคอมนิวนิสต์แห่งมอลเดเวียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๒ เขาดำเนินการกวาดล้างพวกชาตินิยมโรมาเนียที่พยายามเคลื่อนไหวก่อกบฏและเรียกร้องสิทธิทางการเมืองทั้งเนรเทศพลเมืองเชื้อสายโรมาเนียหลายพันคนไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ต่อมา เมื่อเบรจเนฟเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตสืบต่อจากนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* เขายังบังคับให้พลเมืองมอลเดเวียโดยเฉพาะพลเมืองเชื้อสายโรมาเนียเข้าร่วมโครงการการรวมการผลิตแบบนารวม (collectivization) และในการอพยพไปตั้งรกรากในดินแดนทางภาคตะวันออกตามโครงการ "ดินแดนดิบ" (Virgin Lands) ในการบุกเบิกดินแดนทุรกันดารทางตะวันออกให้เป็นเขตเกษตรกรรม นโยบายการปกครองของเบรจเนฟมีผลให้แนวความคิดชาตินิยมและการต่อต้านสหภาพโซเวียตของพลเมืองเชื้อสายโรมาเนียหมดบทบาทและอิทธิพลลงเป็นเวลากว่า ๓ ทศวรรษ และเบรจเนฟก็ปกครองมอลเดเวียอย่างเข้มงวด
     ต่อมาในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev)* ปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยตามนโยบาย "กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา" (Glasnost- Perestroika) หรือ "เปิด-ปรับ" ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ การปฏิรูปดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดกระแสชาตินิยมและความขัดแย้งทางการเมืองภายในสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ และทำให้รัฐบอลติก (Baltic States)* ซึ่งประกอบด้วยเอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย (Latvia) และลิทัวเนีย (Lithuania) เห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตขบวนการชาตินิยมในมอลดาเวียจึงเริ่มเคลื่อนไหวรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๗-๑๙๘๘ ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ กลุ่มชาตินิยมที่ เรียกชื่อว่าแนวร่วมประชาชนมอลเดเวีย (Moldavian Popular Front) เป็นกลุ่มการเมืองใหญ่ที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์และใช้ภาษาโรมาเนียเป็นภาษาราชการ ขณะเดียวกันกลุ่มชาตินิยมเชื้อสายอื่น ๆ ก็จัดตั้งขึ้น เช่น กลุ่มชาวสลาฟ และกลุ่มแกกออูซฮอล์ก (Gagauz Halk) ซึ่งเป็นพลเมืองเชื้อสายแกกออูซ
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๐ มีการเลือกตั้งสภาโซเวียตสูงสุดของมอลเดเวียตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรก และกลุ่มแนวร่วมประชาชนมอลเดเวียได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม มีร์เชีย สเนกุร์ (Mircea Snegur) คอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปได้รับเลือกเป็นประธานสภาโซเวียตสูงสุด และต่อมาในเดือนกันยายนก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แม้เขาพยายามดำเนินนโยบายสายกลาง แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มการเมืองเสียงข้างน้อยในสภา เพราะเห็นว่าเขายังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตไว้ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน มีการเปลี่ยนชื่อสาธารณรัฐจากสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียเป็นสาธารณรัฐแห่งมอลโดวาสังคมนิยมโซเวียต (SovietSocialist Republic of Moldova) ทั้งประกาศอำนาจอธิปไตยที่จะปกครองตนเองด้วย
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๑ กอร์บาชอฟพยายามแก้ไขปัญหาการแยกตัวเป็นเอกราชของสาธารณรัฐโซเวียตด้วยการเสนอร่างสนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพ (New Treaty of Union) ด้วยการยอมให้สาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ มีอำนาจอธิปไตยในการดำเนินการภายในอย่างอิสระและให้มีสถานทูตของตนเองในต่างประเทศได้ แต่นโยบายสำคัญ ๆ เช่น การป้องกันประเทศ การจัดทำงบประมาณ และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับกลุ่มประเทศเครือสาธารณรัฐโซเวียต สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดให้มีการลงนามรับรองร่วมกันในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ แต่ในกลางเดือนมีนาคม มอลเดเวีย อาร์เมเนีย จอร์เจีย และสาธารณรัฐบอลติกทั้ง ๓ แห่งก็ประกาศปฏิเสธที่จะลงนามรับรอง ขณะเดียวกันบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซียก็ประกาศต่อต้านร่างสนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพด้วย และในเวลาต่อมารัฐสภารัสเซียก็ลงมติให้แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต มอลเดเวียจึงเห็นเป็นโอกาสเริ่มเคลื่อนไหวที่จะแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตด้วยและในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐมอลเดเวียและสภาโซเวียตสูงสุดก็เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐสภามอลเดเวีย
     เมื่อกองทัพและฝ่ายคอมมิวนิสต์อนุรักษนิยมร่วมมือกันก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพักผ่อนที่บ้านพักในไครเมียเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ แต่การพยายามทำรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบ ๑ สัปดาห์ก็ล้มเหลวเพราะเยลต์ซินได้ปลุกระดมและรวมพลังประชาชนต่อต้านจนมีชัยชนะ มอลเดเวียเพิกเฉยต่อคำสั่งของกองทัพโซเวียตในการประกาศภาวะฉุกเฉินและเข้าร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนเยลต์ซิน หลังการพ่ายแพ้ของฝ่ายยึดอำนาจ มอลเดเวียก็ประกาศแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ หลังการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ประชากรเชื้อสายโรมาเนียก็เริ่มเคลื่อนไหวให้รวมเข้ากับโรมาเนียและในช่วงเวลาใกล้เคียงกันชนชาติแกกออูซที่พูดภาษาเตอร์กิชทางตะวันตกเฉียงใต้ของมอลเดเวียก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐแกกออูซขึ้น ทั้งพวกสลาฟทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีสเตอร์ก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐดเนสตร์ (Dnestr Republic) หรือสาธารณรัฐดเนสตร์มอลเดเวีย (Dnestr Moldavian Republic) ขึ้นที่ทรานส์นิเตรีย โดยมีทิแรสพอลเป็นเมืองหลวง รัฐสภา มอลเดเวียประกาศให้การจัดตั้งของสาธารณรัฐทั้ง ๒ แห่งเป็นโมฆะ แต่ทั้งสองสาธารณรัฐก็เพิกเฉยและในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีของตนเอง ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดสงคราม มอลเดเวียจึงจัดตั้งกองทัพอาสาสมัครติดอาวุธขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากทหารคอสแซค (Cossack)* อาสาสมัครและกองทัพรัสเซียที่ ๑๔ (Russian 14th Army) ของสหพันธรัฐรัสเซียในการเข้าไปแก้ไขปัญหาทางการเมืองภายในซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นปัญหายืดเยื้อทางการเมือง อย่างไรก็ตาม หลังเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ ทั้งมอลเดเวียและสาธารณรัฐทั้ง ๒ แห่งยอมยุติการสู้รบและหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองร่วมกัน
     ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ผู้นำของสหพันธรัฐรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส (Belarus) สาม ประเทศเชื้อสายสลาฟได้ร่วมกันจัดตั้งเครือรัฐเอกราชขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม อีก ๒ สัปดาห์ต่อมา มอลเดเวียและสาธารณรัฐโซเวียตอีก ๑๐ สาธารณรัฐก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราชด้วย ซึ่งมีผลให้สหภาพโซเวียตต้องสลายลงตัวลงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ อย่างไรก็ตาม รัฐสภามอลเดเวียได้ให้สัตยาบันการเข้าเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราชในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๔
     ในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ มอลเดเวียพยายามแก้ไขปัญหาการเมืองภายในประเทศและเสริมสร้าง ความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ มอลเดเวียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* และในกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ ก็เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ อีกหลายองค์การ เช่น สมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF)* สมาชิกของการประชุมเพื่อความมั่นคงและร่วมมือกันในยุโรปหรือซีเอสซีอี (Conference on Security and Cooperation in Europe CSCE)* สมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization NATO)* นาโตในฐานะภาคีเพื่อสันติภาพ (Nato-Partnership for Peace) และธนาคารโลก เป็นต้น ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ มีการลงประชามติว่ามอลเดเวียจะรวมเข้ากับโรมาเนียหรือไม่ แต่ผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๕ ไม่ต้องการรวมและสนับสนุนให้เข้าร่วมกับเครือรัฐเอกราช ต่อมาในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ มอลเดเวียก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญโซเวียต ค.ศ. ๑๙๗๙ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดการปกครองเป็นแบบ "สาธารณรัฐที่มีรัฐสภาและประธานาธิบดีเป็นประมุข" (presidential parliamentary republic) สมาชิกสภามีจำนวน ๑๐๑ คน ดำรงตำแหน่ง ๔ ปี ส่วนประธานาธิบดีซึ่งเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปีและห้ามดำรงตำแหน่งเกิน ๒ วาระ รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจการปกครองตนเองมากขึ้นแก่สาธารณรัฐแกกออูซและสาธารณรัฐดเนสตร์ซึ่งทำให้ปัญหาแตกแยกทางการเมืองภายในสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๔ มอลเดเวียก็จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกและพรรคการเมืองสำคัญที่มักกุมเสียงข้างมากในสภาในเวลาต่อมาคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมอลเดเวีย (Communist Party of Moldavia) และพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยประชาชน (Christian Democratic People’ s Party) มอลเดเวียจึงเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอดีตประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมซึ่งเคยสังกัดในสหภาพโซเวียตที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันมอลเดเวียทำความตกลงกับสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ในการจะถอนกำลังทหารที่ควบคุมสาธารณรัฐทั้ง ๒ แห่งออกภายในเวลา ๓ ปี โดยกำหนดถอนกองกำลังรุ่นแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๖ แม้สภาดูมาของรัสเซียจะไม่ให้สัตยาบันความตกลงดังกล่าว แต่ความตกลงทางการทหารของทั้ง ๒ ประเทศก็มีส่วนเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในมอลเดเวียให้ดีขึ้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๗ มอลเดเวียกับสาธารณรัฐดเนสตร์ก็ได้ลงนามร่วมกันในความตกลงของการปรับความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศให้กลับสู่สภาวะปรกติเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๗ ในปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ สหพันธรัฐรัสเซียไม่ได้ถอนกำลังทหารออกจากมอลเดเวีย และสาธารณรัฐดเนสตร์อย่างสิ้นเชิงโดยอ้างว่ายังคงจำเป็นต้องมีกองทหารส่วนหนึ่งไว้เพื่อคุ้มกันพลเมืองเชื้อสายรัสเซีย ข้ออ้างดังกล่าวมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมอลเดเวียกับสหพันธรัฐรัสเซียไม่ราบรื่น และมอลเดเวียเริ่มหันไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากขึ้น ทั้งต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)* ด้วย
     แม้มอลเดเวียจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มของประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปและมีหนี้สินต่างประเทศจำนวนมหาศาล อัตราการว่างงานสูงและแรงงานกว่าร้อยละ ๒๕ ต้องทำงานนอกประเทศ แต่เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา ก็ทำให้รัฐบาลเริ่มสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ในระดับหนึ่งและผลักดันนโยบายปฏิรูปด้านต่าง ๆ โดยรัฐบาลเน้นด้านการศึกษา สาธารณสุข และบำเหน็จบำนาญเป็นอันดับแรก ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ รัฐบาลดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและขอความร่วมมือจากประเทศตะวันตกใน การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนการแปรรูปวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อย ประชาชนทั่วไปจึงมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นตามลำดับ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ เกือบทุกครอบครัวมีวิทยุและโทรทัศน์และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้นทั้งใช้เวลาว่างเล่นกีฬาซึ่งกีฬาหลักที่ประชาชนชอบมากคือฟุตบอล.



คำตั้ง
Moldova, Republic of; Moldavia
คำเทียบ
สาธารณรัฐมอลโดวา; มอลเดเวีย
คำสำคัญ
- สหภาพยุโรป
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- องค์การสหประชาชาติ
- เลนิน, วลาดีมีร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- กลุ่มแกกออูซฮอล์ก
- แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ปิฟเดนนีบูฮ์ , แม่น้ำ
- บูโควีนา-เฮิร์ตซา, ดินแดน
- กองทัพแดง
- กองกำลังเหล็ก
- บอลเชวิค
- อะเล็กซานเดอร์ ยอน คูซา, เจ้าชาย
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- สภาดูมา
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- สงครามไครเมีย
- สงครามนโปเลียน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ลัทธิมากซ์
- ดานูบ, ราชรัฐ
- รัสปูติน, เกรกอรี เอฟีโมวิช
- มอลโดวา, สาธารณรัฐประชาธิปไตย
- ความร่วมมือแห่งยุโรป
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การประชุมที่กรุงเบอร์ลิน
- กลุ่มร้อยทมิฬ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- สนธิสัญญาบูคาเรสต์
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- สนธิสัญญาเอียซี
- สนธิสัญญาเอเดรียโนเปิล
- ระบบฟานาเรียต
- สตีเฟนที่ ๔ มหาราช, พระเจ้า
- สงครามอิสรภาพกรีก
- ไมเคิลผู้กล้า, พระเจ้า
- ปัญหาตะวันออก
- บอกดันที่ ๓, พระเจ้า
- มอลเดเวีย, ราชรัฐ
- บูโควินา
- บอกดัน, พระเจ้า
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- ทรานซิลเวเนีย
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- จอห์นผู้เหี้ยมโหด, พระเจ้า
- หลุยส์มหาราช, พระเจ้า
- แอนเทส
- แอนจิวิน, ราชวงศ์
- ทิแรสพอล
- บัลตา, เมือง
- ออสโตรกอท, พวก
- เคียฟ, กรุง
- คีชีเนา, กรุง
- เดเซีย, ราชอาณาจักร
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- มอลโดวา, สาธารณรัฐ
- มอลโดวา, แม่น้ำ
- พรูต, แม่น้ำ
- มอลเดเวีย
- เบสซาราเบีย
- นีสเตอร์, แม่น้ำ
- โซเวียตยูเครน, สาธารณรัฐสังคมนิยม
- ทรานส์นิเตรีย
- เครือรัฐเอกราช
- โซเวียตมอลเดเวีย, สาธารณรัฐสังคมนิยม
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล เซียร์เกเยวิช
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ค่ายกักกันแรงงาน
- โครงการดินแดนดิบ
- เคจีบี
- นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- สตาลิน, โจเซฟ วิสซารีโอโนวิช
- เบรจเนฟ, เลโอนิด อิลยิช
- รัฐบอลติก
- คอสแซค
- ดเนสตร์, สาธารณรัฐ
- สเนกุร์, มีร์เชีย
- ดเนสตร์มอลเดเวีย, สาธารณรัฐ
- เยลต์ซิน, บอริส
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ
- สนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพ
- การประชุมเพื่อความมั่นคงและร่วมมือกันในยุโรปหรือซีเอสซีอี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf